ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน
วรขัตติยราชนารี โปรดให้ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตเบื้องต้น ตลอดจนเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลสันทรายมหาวงศ์ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน 400 ชุด ที่บรรจุด้วยข้าวสาร ผ้าเช็ดตัว ยาสามัญประจำบ้าน และหน้ากากอนามัย ฯลฯ โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัย จากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 18 อำเภอ 48 ตำบล 103 หมู่บ้าน
จากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน 1,000 ชุด ซึ่งเป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ โดยมีนายสันติธร ยิ้มละมัยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นผู้รับมอบเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดต่อไป นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดลำพูน ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จากพายุไต้ฝุ่น “โนรู” และหย่อมความกดอากาศกำลังแรงที่พัดปกคลุมบริเวณ ภาคเหนือ ส่งผลทำให้ประ ชาชนได้รับผลกระทบด้านการดำรงชีพเป็นจำนวนมาก โดยมีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 8 อำเภอ 41 ตำบล 385 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 4,026 ครัวเรือน ซึ่งทาง จังหวัด อำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และภาคเอกชน ได้เข้าดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้จากสถานการณ์การเกิดอุทกภัยที่ผ่านมาได้ทรงติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ ตลอดมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงห่วงใยในความทุกข์ยากเดือดร้อนของ ประชาชน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 11 ตุลาคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด