ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2565 เวลา 13.00 น. ณ กองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา

จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือน พื้นที่ทางการเกษตร และเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของราษฎรผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โปรดให้ นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เป็นผู้เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 น. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญกล่องยังชีพพระราชทาน พร้อมด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จำนวน 1,200 ชุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นผู้รับมอบ เพื่อส่งมอบสิ่งของยังชีพพระราชทาน ให้แก่ผู้แทนแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จำนวน 300 ชุด จังหวัดปัตตานี จำนวน 300 ชุด และจังหวัดนราธิวาส จำนวน 600 ชุด นำไปส่งต่อให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ตลอดจนเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว

โอกาสนี้ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้เชิญพระกระแสทรงห่วงใยของ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ไปกล่าวแก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตัวแทนราษฎรที่ประสบอุทกภัย และครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยให้ได้รับทราบต่อไป ยังความปลื้มปีติแก่ราษฎร และสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก และคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. – 4 มี.ค. 2565 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรจนได้รับความเสียหาย โดยจังหวัดยะลา มีพื้นที่ประสบภัย 7 อำเภอ 49 ตำบล 235 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 8,420 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 10,564 ไร่ บ่อปลา 198 บ่อ ถนน 21 สาย โรงเรียน 19 แห่ง มัสยิด 2 แห่ง จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ประสบภัย 12 อำเภอ 82 ตำบล 351 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 15,458 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 8,655 ไร่ ถนน 21 สาย โรงเรียน 19 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง ปัจจุบัน ไม่มีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำลดลงตามลำดับ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ประสบภัย 13 อำเภอ 69 ตำบล 491 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 40,971 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 6,925 ไร่ บ่อปลาและกุ้ง 110 ไร่ ถนน 47 สาย สะพาน 5 แห่ง ดินสไลด์ทับเส้นทาง 1 แห่ง มัสยิด 22 แห่ง โรงเรียน 15 แห่ง และสถานที่ราชการ 14 แห่ง

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
8 มีนาคม 2565
ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์
สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
8 มีนาคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด