ห้องปฏิบัติการวิจัยการเกิดมะเร็งจากสารเคมี
ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัย: ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
มะเร็งเป็นความผิดปกติของเซลล์ โดยเกิดจากการที่เซลล์มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ มีหลายปัจจัยที่ทำให้เซลล์ผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในร่างกาย ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การสูบบุหรี่ อาหาร การได้รับรังสีหรือสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ทำงาน การได้รับเชื้อไวรัส ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ พันธุกรรม ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือความไม่สมดุลของฮอร์โมน มีรายงานว่า มากกว่าร้อยละ 70 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในผู้ป่วย มีสาเหตุมาจากการได้รับสัมผัสสารเคมี และยังมีปัจจัยเรื่องพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ในแต่ละปีมีผู้คนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับซึ่งเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลกรวมถึงคนไทย มะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิดคือ มะเร็งเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma) ซึ่งเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อของตับ และมะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) ซึ่งเกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังของท่อน้ำดี โดยประเทศไทยมีความชุกของโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พบได้น้อยในกลุ่มชาวอเมริกันและยุโรป จึงเป็นไปได้ว่า ความแตกต่างทางภูมิภาคนั้นมีผล ในทางระบาดวิทยาของโรคมะเร็งชนิดนี้ รายงานการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับขั้นตอนการเกิดมะเร็งตับและการบำบัดรักษามีอยู่อย่างจำกัด ไม่มีการทำวิจัยอย่างกว้างขวางเนื่องจากเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดต่ำในประเทศที่พัฒนาแล้ว
เป้าหมายงานวิจัยของห้องปฏิบัติการ
- ศึกษากลไกที่เป็นต้นเหตุของพัฒนาการของโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่แพร่หลายในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อาจเกิดจากสารเคมีและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
- ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาระดับโมเลกุลในมะเร็งบางชนิด รวมทั้งศึกษาสาเหตุและพยาธิชีววิทยาของมะเร็งนั้น ๆ
- ค้นหาและประเมินโมเลกุลเป้าหมายใหม่สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง และการค้นหาตัวบ่งชี้การวินิจฉัยมะเร็ง
การวิจัยในปัจจุบัน
- การจัดตั้งคลังชีววัตถุโรคมะเร็ง และโครงการวิจัยเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดี (Thailand’s Initiative in Genomics and Expression Research for Liver Cancer) หรือ TIGER-LC
- การศึกษากลไกการเกิดโรคมะเร็งและพยาธิชีววิทยาในคนไข้โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีชาวไทยอย่างเป็นระบบ
- การศึกษากลไกของการยับยั้งการทำงานของยีนที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเซลล์แบบไมโทซีสในเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี
ติดต่อ
ห้องปฏิบัติการวิจัยการเกิดมะเร็งจากสารเคมี
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ชั้น 3 อาคารวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์
54 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์
0 2553 8555
ต่อ 8255, 8256