พระกรณียกิจในการเสด็จไปทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์ พอ.สว. ณ จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น
เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนชาวไทยเสมอมา ด้วยทรงห่วงใยปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทยที่เจ็บป่วยยากไร้ และห่างไกลจากวิทยาการทางการแพทย์อันทันสมัย จึงทรงอุทิศพระองค์ พระราชทานการรักษา และส่งเสริมให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐานกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมผนึกกำลังปฏิบัติงานตามพระปณิธานฯ ดังการเสด็จไปทรงเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์ พอ.สว. ประจำจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2566
เมื่อพสกนิกรในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงได้ทราบข่าวการเสด็จมาในครั้งนี้ ต่างมีความปลื้มปีติ และพร้อมใจกันมาเฝ้ารอชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของประชาชนอย่างหาที่สุดไม่ได้ โดยตลอดเส้นทางที่ได้เสด็จผ่าน ทรงโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น
ในการออกหน่วยแพทย์ พอ.สว. ของแต่ละพื้นที่ในครั้งนี้ มีประชาชนที่เจ็บป่วยเดินทางเข้ามาเพื่อขอรับบริการตรวจรักษาเป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคพื้นฐานทั่วไป จนถึงโรคที่ซับซ้อน ยากต่อการรักษา และมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการบำบัดรักษาโรค และช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนผู้เจ็บป่วยและด้อยโอกาสสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเผชิญโรคที่ร้ายแรงอีกต่อไป
ในการนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษานำผู้ป่วยด้อยโอกาสและยากไร้ เฝ้า ซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งจอตา โรคมะเร็งเต้านม โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคสมองพิการ เป็นต้น โดยทรงได้ซักถามถึงอาการและความเป็นอยู่ของผู้ป่วยด้วยความห่วงใย พร้อมกับทรงมีพระวินิจฉัยร่วมกับแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นสำคัญ ตลอดจนทรงพระเมตตารับไว้เป็นคนไข้ในพระอนุเคราะห์ เพื่อให้มีโอกาสได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดในโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีความพร้อมด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย อีกทั้งได้พระราชทานเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิจุฬาภรณ์แก่ผู้ป่วยในพระอนุเคราะห์สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเดินทางไปรักษาตัว และดำรงชีพในเบื้องต้นต่อไป
นอกจากพระราชทานการรักษาพยาบาลและให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนผู้เจ็บป่วยในพื้นที่อย่างทั่วถึงแล้ว ยังได้พระราชทานเครื่องแบบนักเรียนแก่ผู้แทนนักเรียน และชุดของเล่นเด็กที่เสริมพัฒนาการเรียนรู้ พร้อมสมุดวาดภาพระบายสีแก่เด็กเล็กด้วย
พร้อมกันนี้ พระราชทานเข็มเครื่องหมายกรรมการ อนุกรรมการแก่ผู้แทนกรรมการ และอนุกรรมการ พอ.สว. และพระราชทานเข็มเครื่องหมาย พอ.สว. เข็มพระนามาภิไธยย่อ สว. และโล่ แก่อาสาสมัคร พอ.สว. ผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ และอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวมโดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน
โอกาสนี้ ทรงนำสมาชิก พอ.สว. ร่วมขับร้องเพลงพระนิพนธ์ “เลือดหยดเดียว” พร้อมพระราชทานพระดำรัสชื่นชมและยกย่องการปฏิบัติงานของคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร มูลนิธิ พอ.สว. ทุกคน ที่เสียสละอุทิศตนเพื่อส่วนรวม และทรงเน้นย้ำถึงการทำงานต้องครองด้วยสติอยู่เสมอ เพื่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ
สำหรับการออกปฏิบัติงานหน่วยแพทย์ พอ.สว. ของพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น ในครั้งนี้ โปรดให้โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลประจำท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลมหาสารคาม โรงพยาบาลนาดูน โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลน้ำพอง เป็นต้น ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข แก่ประชาชนผู้เจ็บป่วย ประกอบด้วย การตรวจสุขภาพและรักษาโรคทั่วไป ตรวจสุขภาพตา บริการด้านทันตกรรม บริการให้คำปรีกษาปัญหาสุขภาพจิต บริการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน รวมทั้งบริการแพทย์แผนไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาของการออกหน่วยแพทย์ พอ.สว. ในครั้งนี้ มีประชาชนผู้เจ็บป่วยมารับบริการตรวจรักษา รวมทั้งหมด 1,161 คน ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ที่พบ อาทิ โรคกล้ามเนื้อและกระดูก โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบหัวใจ
นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีพระเมตตาและทรงห่วงใยในสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนเสมอมา ด้วยทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพไว้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
25 ตุลาคม 2566