ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) เรื่อง “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (Immuno-oncology)” พระราชทานแก่ คณาจารย์ และนิสิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 – 19 มกราคม 2565 ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

20 ม.ค. 2565
0

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 เวลา 12.50 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (Immuno-oncology)” พระราชทานแก่ คณาจารย์ และนิสิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 50 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) สำหรับรายวิชานี้ จะทรงบรรยายใน 2 หัวข้อหลัก วันนี้ เป็นหัวข้อแรก เรื่อง ระบบภูมิคุ้มกันกับโรคมะเร็ง (The Immune System and Cancer) ซึ่งเป็นเรื่องการรักษามะเร็งโดยใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็งในร่างกาย

ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งอย่างมาก ในคนปกติทั่วไป เมื่อมีเซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในร่างกาย เริ่มกลายพันธุ์เพื่อก่อตัวเป็นมะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่กำจัดเซลล์ที่กลายพันธุ์ทิ้ง เราก็รอดพ้นจากการเป็นมะเร็ง แต่ในคนที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เซลล์ที่กลายพันธุ์ไม่ถูกระบบภูมิคุ้มกันทำลาย ก็จะกลายเป็นมะเร็งได้ ระบบภูมิคุ้มกัน จึงมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสุขภาพให้รอดพ้นจากการคุกคามของเชื้อโรค ทั้งยังสามารถช่วยให้สมรรถภาพของเซลล์ทำงานได้ตามปกติ และป้องกันโรคมะเร็ง

ในการนี้ ทรงบรรยายถึงหลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม (Foreign agents) เข้าสู่ร่างกาย โดยระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นเพื่อให้กำจัดสิ่งแปลกปลอม ซึ่งก็คือเซลล์มะเร็งออกไปจากร่างกาย จัดเป็นแนวทางใหม่และเป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง ที่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อย และยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี

อีกทั้ง ทรงบรรยายถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ภูมิคุ้มกันที่ได้มาแต่กำเนิด (Innate Immunity) และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired or Adaptive Immunity) ซึ่งร่วมกันทำงานเกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน โดยมีระบบการเฝ้าระวังของภูมิคุ้มกันที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์ปกติของร่างกาย (Self) และเซลล์ที่ผิดปกติได้ (Non-Self) โดยปกติ เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจะไม่ทำลายเซลล์ของร่างกาย เนื่องจากมีความสามารถในการจดจำเซลล์ของร่างกายได้ จึงสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และ สิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เซลล์ต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด จะทำให้เกิดการตอบสนองในลักษณะภูมิคุ้มกันทั่วไป สามารถจำแนกคุณลักษณะในระดับโมเลกุลที่อยู่บนผิวเซลล์ของเซลล์แปลกปลอมหรือเซลล์ผิดปกติ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสสิ่งเหล่านี้มาก่อน และส่งสัญญาณไปเรียกเซลล์อื่น ๆ ของระบบภูมิคุ้มกันให้มายังตำแหน่งนั้น เพื่อร่วมกันโจมตีและกำจัดเซลล์แปลกปลอมออกไปอย่างรวดเร็ว เช่น การกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย

อย่างไรก็ตาม หากการทำงานของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็จำเป็นต้องใช้ระบบภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะมากขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนาความจำถึงการสัมผัสเซลล์แปลกปลอมนั้นมาก่อน ทำให้เกิดการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อสัมผัสอีกครั้ง โอกาสนี้ ทรงยกตัวอย่างกลไกการทำงาน และการตอบสนองของเซลล์ชนิดต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น โดยทรงเน้นถึงความสำคัญที่ระบบภูมิคุ้มกันสามารถจำแนกได้ว่า เซลล์มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อในร่างกายเจ้าของเองนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม แม้ว่าเซลล์มะเร็งนั้นจะเคยเป็นเซลล์ปกติที่อยู่ในร่างกาย และกำจัดเซลล์แปลกปลอมออกไปจากร่างกาย โดยที่ไม่ทำลายเนื้อเยื่อตนเอง พร้อมทั้งทรงยกตัวอย่างแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง (Tumor Antigens) ที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน แอนติเจนเหล่านี้สามารถเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค และการนำมาใช้เป็นเป้าหมายในการการรักษาโรคมะเร็งต่อไป

จากนั้น ทรงบรรยายพิเศษต่อเนื่องวันที่ 2 (วันที่ 19 มกราคม 2565) ในหัวข้อที่ 2 เรื่อง การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (Cancer Immunotherapy : Immune Checkpoint Inhibitors) ซึ่งร่างกายสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ยังทรงอธิบายอย่างต่อเนื่องถึงกระบวนการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunoediting) ซึ่งเริ่มจากการที่เซลล์มะเร็งถูกตรวจพบ และทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกัน แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมของเซลล์มะเร็งที่ยังไม่ถูกทำลาย ทำให้สามารถคงอยู่ต่อไปและพยายามปรับตัวอยู่ร่วมกับเซลล์ปกติ และต่อมามีการปรับตัวเพื่อหลบหนีจากระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญและแพร่กระจายออกไป เนื่องจากไม่มีการควบคุม หรือการกำจัดโดยระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้เซลล์มะเร็ง สามารถหลบหนีจากการกำจัดของระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การกดระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์มะเร็งเอง โดยเกิดที่โมเลกุลของจุดตรวจภูมิคุ้มกัน (immune checkpoint molecules) บนผิวของเซลล์มะเร็ง ไปทำปฏิกิริยากับตัวรับบนเม็ดเลือดขาวชนิด ที-เซลล์ (T-cells) ที่มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของระบบเม็ดเลือดขาวนี้ ทำให้สามารถยับยั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-เซลล์ที่จุดตรวจภูมิคุ้มกัน (immune checkpoints) และหลบหลีก (evade) จากการทำลายของระบบภูมิคุ้มกันได้

ดังนั้น การยับยั้งการกด (suppression) ระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์มะเร็ง โดยการใช้ยาซึ่งเป็นโมโนโคลนอล แอนตี้บอดี้ (monoclonal antibody) ไปยับยั้งการทำปฏิกิริยาที่จุดตรวจภูมิคุ้มกันนี้ จะทำให้เพิ่มการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น ถือเป็นแนวทางใหม่ของการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (cancer immunotherapy) ดังนั้น การพัฒนายา ตลอดจนกลไกในการทำงานของยากลุ่มนี้ จึงเป็นความหวังแนวทางการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยการใช้แนวทางการรักษาโดยใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน และทรงยกตัวอย่างการใช้ยาในกลุ่มยับยั้งจุดตรวจภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดร่วมกัน ซึ่งให้ผลการรักษามะเร็งที่ดีขึ้น แต่ในบางรายอาจจะมีอาการข้างเคียง(side effects) และ ความเป็นพิษ (toxicities) ในร่างกายขึ้นได้ ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลผลการรักษาในระยะยาวด้วยการใช้ยากลุ่มนี้ ร่วมกับการรักษาแบบเคมีบำบัด (chemotherapy) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเพิ่มการตอบสนองในการต้านมะเร็งมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังในการวางแผนการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่ระยะ (phase) ของการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเป้าหมาย ตลอดจนขนาด (dose) ของยาที่ใช้ และระยะเวลา (schedule) ของการใช้ยาเป็นองค์ประกอบด้วย

ด้วยพระกรุณาธิคุณของ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ที่ทรงบรรยายมาอย่างต่อเนื่องทั้ง 2 ครั้งนี้ ทรงมุ่งมั่นและตั้งพระทัยที่จะถ่ายทอดพระประสบการณ์และองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างเต็มพระกำลังความสามารถ เพื่อปูพื้นฐานภาพรวมของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านมะเร็ง ตลอดจนการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแสวงหาแนวทางในการรักษาบำบัดโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ และด้านสัตวแพทย์ในอนาคตกับการรักษามะเร็งทั้งในคนและสัตว์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นการสร้างคุณูปการต่อวงการสาธารณสุขไทยต่อไป

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
20 มกราคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด