องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จ 2 วิธี แก่ นายกรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผลงานวิจัยได้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่คนไทยทุกคน

24 ธ.ค. 2564
0

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 14.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 5 หอศิลป์พิมานทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พระราชทานพระวโรกาสให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เข้าเฝ้า เพื่อทรงหารือถึงแนวทางการนำเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จ ไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนายาเพื่อการรักษาโรคโควิด-19

เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดน้อยลง การเร่งพัฒนายาเพื่อรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งด้านเคมีและด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ จึงได้พยายามหาวิถีทางเพื่อที่จะแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยทรงริเริ่มดำเนินโครงการวิจัยเพื่อเร่งพัฒนายาในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับรักษาโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด และได้ทรงเลือกยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่จะมีประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้น จนประสบความสำเร็จโดยอาศัยวิธีการ 2 วิธี วิธีการแบบที่ 1 เป็นการสังเคราะห์โดยการใช้สารเคมีในกระบวนการทางอินทรีย์เคมีสังเคราะห์เพียง 3 ขั้นตอน ในเวลา 3 วัน จากสารตั้งต้นที่หาซื้อได้ในราคาไม่แพง วิธีการแบบที่ 2 เป็นการใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาโดยใช้ขั้นตอนเพียง 2 ขั้น เพื่อเติมหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่จำเป็นเท่านั้น และใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ลดความซับซ้อนในการจัดการกับปฏิกิริยาอีกด้วย ดังนั้น ความสำเร็จนี้จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตตัวยาได้ภายในประเทศ

โอกาสนี้ พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จทั้ง 2 วิธี แก่นายกรัฐมนตรี โดยขอมอบให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำไปต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน

จากนั้น นายกรัฐมนตรีขอพระราชทานพระวโรกาสถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม 2564 และถวายวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จำนวน 1,500,000 โดส ซึ่งรัฐบาลไทยได้รับมอบจากรัฐบาลจีน เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติพระกรณียกิจด้านการสาธารณสุขของประเทศ ต่อจากนั้น พระราชทานวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จำนวนดังกล่าวนี้ แก่ นายแพทย์ยุทธ โพธารามิก เลขาธิการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. เพื่อนำวัคซีนไปฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีเป้าหมายสูงสุดตามพระสงค์ขององค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และหนึ่งในพันธกิจสำคัญของสถาบันฯ คือ การวิจัยพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ เช่น การพัฒนายาเคมี ยาสมุนไพร และยาชีววัตถุ ดังนั้นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะทำให้เกิดเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางยา เวชภัณฑ์ ให้แก่ประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตซึ่งเกิดจากโรคอุบัติใหม่ในอนาคตต่อไป

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 24 ธันวาคม 2564

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์
สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 24 ธันวาคม 2564

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด