องค์ประธานสถาบันฯ เสด็จในพิธีลงพระนามและลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยเรื่อง มะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทย วันที่ 9 สิงหาคม 2553

10 ส.ค. 2553
0

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จในพิธีลงพระนามและลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยเรื่อง มะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทย ระหว่าง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (สำนักวิจัยและโรงพยาบาลจุฬาภรณ์) กับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2553 เวลา 15.00 น.   ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์



โรคมะเร็งเป็นโรคซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับนำของโลก ทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยคร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่า โรคเอดส์ วัณโรค และมาเลเรียรวมกัน ในปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงเป็นที่คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นจำนวนถึง 84 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 70% จะเป็นประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา ในขณะนี้โรคมะเร็งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยเรื่องสาเหตุและกลไกการเกิดมะเร็งในระดับโมเลกุลมาตั้งแต่ทรงสถาปนาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ในปี พ.ศ. 2530 โดยได้ทรงงานวิจัย เรื่อง การเกิดมะเร็งจากสารเคมีอย่างต่อเนื่อง ในห้องปฏิบัติการซึ่งทรงเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการอีกตำแหน่งหนึ่ง และเมื่อปี  พ.ศ. 2546  ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง ซึ่งขณะนี้คือโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ. 2547 เพื่อเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยนำการวิจัยทั้งระดับพื้นฐานและระดับคลินิกมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคมะเร็งในแนวใหม่เพื่อให้ได้ผลดีขึ้นและเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยและวิชาการ ในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ จากประเทศที่มีความก้าวหน้าของโลกในเรื่องนี้

กิจกรรมต่างๆที่ทรงริเริ่มดำเนินการทั้งด้านการวิจัย ด้านการรักษาพยาบาล และการที่ทรงก่อตั้งโครงการหาทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่ยากไร้ ต่างได้รับการยกย่องในวงการวิทยาศาสตร์ระดับสากล และจากประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯได้ทรงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำการวิจัยโรคมะเร็งของตับซึ่งเป็นชนิดของมะเร็งที่มีอุบัติการเกิดสูงเป็นอันดับหนึ่งในเพศชายและอันดับ 3 ในเพศหญิง ในประเทศไทยการวิจัยในระดับโมเลกุลและคลินิกจะนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลตลอดจนแนวทางการป้องกันโรค

ในประเทศไทยโรคมะเร็งของตับเป็นชนิดที่มีอุบัติการสูงเป็นอันดับหนึ่งในเพศชาย และอันดับที่ 3 ในเพศหญิง สาเหตุการเกิดโรคเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัส hepatitis B และ C ร่วมกับการได้รับสารเคมีซึ่งปนเปื้อนในอาหาร เช่น aflatoxin หรือ nitrosamines เป็นต้น และในกรณีของมะเร็ง  ท่อน้ำดี พยาธิใบไม้ในตับอาจเป็นปัจจัยร่วมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ริเริ่มความร่วมมือเบื้องต้นกับสถาบันมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาและต่อมาสถาบันได้นำมาจัดทำโครงการความร่วมมือในระดับประเทศกับสถาบันและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยซึ่งมีประสบการณ์ในการวิจัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับได้แก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อผนึกกำลังของนักวิจัยฝ่ายไทยในการทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันมะเร็งของสหรัฐอเมริกาในโครงการ

การดำเนินโครงการในระยะแรกจะเป็นการจัดตั้งคลังชีววัตถุของโรคมะเร็งตับ และท่อน้ำดี อย่างเป็นระบบนักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาจะร่วมมือทำการวิจัยในประเด็นและด้านต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดของปัจจุบัน เพื่อติดตามกลไกการเกิดโรค การพัฒนาเป็นมะเร็งในระยะต่างๆ ซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและเพื่อค้นหาดัชนีชีวภาพที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคในระยะต่างๆ และที่จะนำไปสู่การพัฒนายาที่จะบำบัดได้

การลงพระนามและลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ นับเป็นก้าวแรกที่ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของสถาบันชั้นนำของประเทศไทยที่จะร่วมมือกันทำโครงการวิจัยระดับประเทศเรื่องโรคมะเร็งตับเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทย ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการป้องกัน หรือช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งนี้มีโอกาสบรรเทาจากโรคร้าย มีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2553 

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด