เฉลิมพระเกียรติฯ พระปรีชาเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ของปวงชาวไทย

02 ก.ค. 2550
0

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จในงานเฉลิมพระเกียรติ ที่กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ร่วมจัดขึ้น เนื่องในโอกาสทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลทางวิชาการระดับนานาชาติ และในโอกาสทรงเจริญพระชันษาครบ 50 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2550 เวลา 18.00-20.00 น.ณ Convention Hall ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยมี ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กราบทูลถวายสดุดีพระเกียรติคุณ และบุคคลสำคัญระดับประเทศเข้าร่วมถวายพระพรชัยมงคล อาทิ ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และภริยา ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมรัฐมนตรีว่า การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะผู้บริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนคณะฑูตและผู้แทนจากต่างประเทศ อาทิ สาธารณรัฐฮังการี ประเทศญี่ปุ่น สมาพันธรัฐสวิส ประเทศสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐออสเตรีย สาธารณรัฐโปแลนด์ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐอาร์เจนตินา สาธารณรัฐเชค และสาธารณรัฐตุรกีกระทรวงศึกษาธิการ โดย ศาสาตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ ในฐานะองค์กรของรัฐที่กำกับดูแลสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้รวบรวมข้อมูลรางวัลทางวิชาการระดับนานาชาติที่ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวาย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงเสียสละและอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขต่อมวลมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับต่อประชาคมโลก ประกอบกับในปี พ.ศ.2550 นี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชันษาครบ 50 ปี จึงเป็นมหามงคลวโรกาสที่ดีในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้

ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการรางวัลพระเกียรติคุณที่ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวาย ในปี 2549 – 2550 ถึง 3 รางวัล อันได้แก่ รางวัล IFCS Special

Recognition Award จาก Intergovernmental Forum on Chemical Safety : IFCS ในพิธีเปิดการประชุมสมัยที่ 5 ของเวทีการประชุมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความปลอดภัยของสารเคมี ณ กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 ในฐานะที่ทรงดำเนินกิจกรรมและให้มีการสนับสนุนส่งเสริมงานความปลอดภัยของสารเคมีแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในภูมิภาค จากการดำเนินงานด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ทศวรรษ ทำให้มีการพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เป็นจำนวนมากกว่า 3,500 คน จาก 35 ประเทศ นอกจากนี้ยังเสด็จไปดำเนินโครงการฝึกอบรมดังกล่าวแก่ประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งกิจกรรมด้านพัฒนาบุคลากรนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของสารเคมี

รางวัล Nagoya Medal Special Award ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าว ในการประชุม 1st International Conference of Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia ที่จัดขึ้น ณ เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2549 ในฐานะที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและทรงอุทิศพระองค์ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยด้านอินทรีย์เคมี และจากผลงานที่ทรงดำเนินกิจกรรมในด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อินทรีย์เคมี อินทรีย์เคมีสังเคราะห์ มะเร็ง พิษวิทยา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งยังทรงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนทางด้านการศึกษาอบรมแก่นักวิจัยของเอเชียผ่านทางมูลนิธิจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ที่ทำคุณประโยชน์สูงสุดแก่วงการอินทรีย์เคมี และมีความสำคัญยิ่งต่อวงการเคมีของญี่ปุ่น โดยทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ชาวเอเชียพระองค์แรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

รางวัล Albert Hofmann Centennial Gold Medal Award ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้เป็นพระองค์แรกของโลก เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 ณ สถาบันอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยซูริค สมาพันธรัฐสวิส ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ รวมถึงการดำเนินงานด้านวิชาการและการวิจัย การพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อินทรีย์เคมีสังเคราะห์ และสารเคมีจากสมุนไพรที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ เพื่อค้นหาตัวยาใหม่ๆ มาใช้รักษาโรค

ตลอดจนการแสดงนิทรรศการรางวัลพระเกียรติคุณในอดีตที่ผ่านมา ที่ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายจากนานาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

รางวัลเหรียญทองคำ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ในปี พ.ศ. 2529 จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือ UNESCO เป็นบุคคลที่ 3 ของโลก และเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีพระองค์แรกที่ได้รับรางวัลนี้

การถวายพระเกียรติ Tree of Learning Award ในปี พ.ศ. 2533 ในฐานะที่ทรงมีผลงานการฝึกอบรมบุคลากรทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก

รางวัล EMS-Hollaender International Fellow Award ในปี พ.ศ. 2545 ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยอดเยี่ยมในสาขาเคมีก่อมะเร็ง พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และเคมีด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ตลอดจนการอุทิศพระองค์กับงานวิจัยและวิชาการ ก่อให้เกิดการส่งเสริมและการเผยแพร่ความรู้ในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติ

และรางวัลเกียรติยศเหรียญทองเชิดชูเกียรติ CISAC Gold Medal Award ในปี พ.ศ. 2547 ในฐานะทรงสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่มวลชนทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การแสดงคอนเสิร์ตเพื่อการกุศล และการแสดงดนตรีและวัฒนธรรมสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังจัดแสดงสื่อมัลติมีเดียประมวลภาพทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่างๆ ให้ได้รับชม รวมทั้งคณะแขกผู้มีเกียรติร่วมถวายพระพรชัยมงคลและร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติ เพื่อสำนึกในพระกรุณาธิคุณและถวายเป็นพระสดุดีแด่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ร่วมกัน

รางวัลพระเกียรติคุณเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งแห่งรางวัลอันทรงคุณค่า สมดั่งสมัญญานาม “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ที่ปวงชนชาวไทยทุกคนเทิดทูนและภาคภูมิใจ

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด