การปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนไทย

04 ก.ย. 2567
1

ดร.นุชนาถ รังคดิลก สุมลธา หนูคาบแก้ว รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
แผนกปฏิบัติการวิเคราะห์ หน่วยวิจัยและวิเคราะห์คุณภาพอาหารและยา
ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา

     ทุเรียน เป็นผลไม้ไทยอีกชนิดหนึ่งที่เป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก หนึ่งในประเทศที่นำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นจำนวนมากก็คือ ประเทศจีน สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 ส.ค.2567 ไทยส่งออกทุเรียนไปแล้ว 714,334 ตัน มีมูลค่าถึง 94,870 ล้านบาท การส่งออกทุเรียนไปยังจีนจึงถือเป็นรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจของไทย แต่ในปี 2567 นี้ ทางจีนได้มีรายงานการแจ้งเตือนการตรวจพบการปนเปื้อน “แคดเมียม” ในทุเรียนไทยที่ส่งออกไปจีน โดยได้มีการแจ้งเตือนมาตั้งแต่ 11 มี.ค. 2567 จนถึงปัจจุบันมีการแจ้งเตือนแล้ว จำนวน 6 ครั้ง จากผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ 12 ราย และแหล่งผลิตจำนวน 15 สวน จำนวน 16 ล็อต
(อ้างอิงจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/343652) และก่อนหน้านี้ทางกรมกักกันสัตว์และพืชของศุลกากรแห่งชาติจีนก็ได้มีการส่งเอกสารเตือนไปยังสถานทูตเวียดนามในจีนระบุว่ามีการตรวจพบทุเรียนนำเข้าจากเวียดนามถึง 77 ล็อต มีการปนเปื้อน “แคดเมียม” เกินกำหนด และเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค จีนจึงระงับการนำเข้าทุเรียนจากโรงงานบรรจุภัณฑ์ 15 แห่ง และสวนผลไม้ 18 แห่งในเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมาเช่นกัน
(อ้างอิงจาก https://www.opsmoac.go.th/guangzhou-news-files-461391791999)

     “แคดเมียม” ในทุเรียนมาจากไหน? แล้วในทุเรียนจากไทยมีปริมาณ “แคดเมียม” เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้จริงหรือไม่ การปนเปื้อน “แคดเมียม” ในทุเรียน อาจเป็นผลมาจากแคดเมียมที่มีอยู่ในดินและน้ำบริเวณแหล่งปลูก ปุ๋ยที่ใช้ (ปุ๋ยจากมูลสัตว์ โดยเฉพาะมูลสุกรมีปริมาณแคดเมียมสูงกว่ามูลวัวหรือมูลไก่1) หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ กรมวิชาการเกษตรของไทยจึงได้สั่งระงับการส่งออกทันที ทั้งในส่วนของโรงคัดบรรจุและสวน และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตัวอย่างทุเรียน ดิน น้ำ และปัจจัยการผลิต เพื่อเร่งหาสาเหตุการปนเปื้อน ซึ่งจากผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีตัวอย่างทุเรียนปนเปื้อนแคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนดไว้ที่ ปริมาณแคดเมียมต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

     แผนกปฏิบัติการวิเคราะห์ หน่วยวิจัยและวิเคราะห์คุณภาพอาหารและยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025: 2017 จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย (หมายเลขทะเบียน 1299/62 การทดสอบอาหาร) โดยได้รับการรับรองในรายการทดสอบ คือ การตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารหนูรวม แมงกานีส ทองแดง แคดเมียม สังกะสี และชนิดของสารหนู ในตัวอย่างอาหาร (โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา ได้ทำการเก็บตัวอย่างทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่วางจำหน่ายทั่วไป (จำนวน 7 ตัวอย่าง) มาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณ “แคดเมียม” โดยใช้เทคนิค Inductively Coupled Plasma Mass Spectrometry (ICP-MS) ผลที่ได้พบการปนเปื้อนของ “แคดเมียม” ในเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทองในปริมาณต่ำ (<0.005-0.0163 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนของเมล็ดทุเรียน มีปริมาณ “แคดเมียม” สูงกว่าเนื้อและเปลือกทุเรียน แต่ปริมาณที่ตรวจพบในทุเรียนนี้ก็ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่ทางจีนกำหนดไว้ที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งผลการวิเคราะห์นี้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของกรมวิชาการเกษตร อย่างไรก็ตามจำนวนตัวอย่างที่นำมาตรวจวิเคราะห์ยังมีจำนวนน้อย จึงควรมีการสุ่มตัวอย่างจากแหล่งปลูกทุเรียนมาตรวจเพิ่มเติม และตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์อื่นๆด้วย ซึ่งขณะนี้ทางกรมวิชาการเกษตรได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ส่งออกทุเรียน ในระหว่างวันที่ 2 – 16 ก.ย. 2567 นำตัวอย่างทุเรียน 5 ลูกต่อการส่งออก 1 ล็อต มาตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อน “แคดเมียม” เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับบริโภคและผู้นำเข้าทุเรียนจากไทย

     ทางสถาบันฯ ยินดีให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณ “แคดเมียม” ในทุเรียนไทยแก่ผู้ส่งออกทุเรียน หรือเกษตรกรที่ต้องการตรวจ สามารถติดต่อได้ที่แผนกปฏิบัติการวิเคราะห์ (คุณเนตรทราย โทรศัพท์ 02-553 8555 ต่อ 8620; email: [email protected] หรือคุณปิยพล โทรศัพท์ 02-553 8555 ต่อ 8570 หรือ 089-449 9290; email: [email protected])

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด