บทบาทของสารแคปไซซินในการยับยั้งการเคลื่อนที่และลุกลามของเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูก

19 ต.ค. 2566
0

ดร.ปัทมา สิงห์หิรัญนุสรณ์
ห้องปฏิบัติการวิจัยการเกิดมะเร็งจากสารเคมี สำนักวิจัย

 

โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Carcinoma, NPC) มีต้นกำเนิดอยู่บริเวณหลังโพรงจมูกและเหนือด้านหลังของปาก ซึ่งเป็นทางผ่านของอากาศไปยังผนังคอ จึงมักจะมีสารบางอย่าง ไหลผ่านเข้าไปได้ง่ายส่งผลให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดังกล่าวได้ง่าย โรคมะเร็งชนิดนี้มีอาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัด มักมีอาการไอ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดบ่อยครั้ง เป็นโรคที่พบบ่อยในคนเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีนตอนใต้ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

รูปที่ 1. ตำแหน่งของมะเร็งหลังโพรงจมูก (https://www.cancerresearchuk.org/)

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส Epstein-Barr (EBV) ความบกพร่องทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและอาหารแปรรูปบางอย่าง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้ เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง ควันธูป และอาหารหมักเค็ม เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เป็นต้น

การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกจะใช้การฉายรังสี (radiation therapy)  หรือฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด (chemotherapy) และการผ่าตัดในบางกรณี ตำแหน่งที่มักพบการแพร่กระจาย (metastasis) ของโรค จะอยู่ที่บริเวณกระดูก (ร้อยละ 70-80) นอกจากนี้อัตราการกลับเป็นซ้ำ (recurrence) ของโรคหลังการรักษา มักเกิดขึ้นในระยะ 3 – 5 ปี ทั้งนี้มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยพบเร็วและรักษาอย่างรวดเร็ว

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก จะให้ควบคู่กับการฉายรังสี โดยเฉพาะกรณีที่มีมะเร็งลุกลามหรือแพร่กระจาย ยาเคมีบำบัดที่ใช้ได้แก่ Cisplatin, Fluorouracil, Paclitaxel, Gemcitabine เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลข้างเคียงจากการได้รับยาเคมีบำบัดเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เจ็บคอ ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร ย่อมทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวและวิตกกังวล ดังนั้นตัวเลือกที่อาจช่วยบรรเทาผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด เช่น สารสกัดจากธรรมชาติ จึงได้รับความสนใจจากนักวิจัยเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ได้แก่ สารแคปไซซิน

สารแคปไซซิน (Capsaicin) เป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่พบมากในพริก ให้ความรู้สึกเผ็ดร้อน แสบเมื่อสัมผัสผิวหนัง ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสารแคปไซซินได้รับความสนใจจากนักวิจัยจำนวนมาก เนื่องจากมีศักยภาพเป็นสารต้านมะเร็ง (anti-cancer) ในมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

รูปที่ 2. ตำแหน่งและโครงสร้างสารแคปไซซิน (tran-8-methyl-N-vanillyl-6-nonenamide)

นักวิจัยของห้องปฏิบัติการวิจัยการเกิดมะเร็งจากสารเคมีได้ทำการศึกษาและอธิบายกลไกของสารแคปไซซินในการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูก 3 ชนิด ได้แก่ เซลล์ HONE1, CNE1 และ NPC-TW06 ที่มีลักษณะจำเพาะแตกต่างกัน โดยทดสอบผลของสารแคปไซซินต่อความเป็นพิษต่อเซลล์ (cell cytotoxicity) การเพิ่มจำนวนของเซลล์ (cell proliferation) การจำลองการสมานแผล (wound healing) การลุกลามและการเคลื่อนที่ของเซลล์ (invasion และ migration) พบว่าสารแคปไซซิน ในช่วงความเข้มข้น 25-150  ไมโครโมลาร์ สามารถยับยั้งการแบ่งตัวและการลุกลามของเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูกทั้งสามชนิดได้ดี และเมื่อเซลล์ได้รับสารแคปไซซินมากกว่า 200 ไมโครโมลาร์ขึ้นไปพบว่าเซลล์มีรูปร่างที่เปลี่ยนไป และเข้าสู่กระบวนการตายแบบอะพอพโทซิส

รูปที่ 3. สารแคปไซซินยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์ในการทดลองการจำลองการสมานแผล

นอกจากนี้สารแคปไซซินยังทำให้เกิดการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์ และสามารถยับยั้งของการเกิดฟอสโฟริเลชั่นของโปรตีน mTOR (mTOR phosphorylation) ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของการเจริญเติบโต การแบ่งตัว และการคงอยู่ของเซลล์ เมื่อได้ทดลองให้สารยับยั้งจำเพาะของ mTOR ที่ชื่อ rapamycin ร่วมกับสารแคปไซซินในเซลล์ พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านการเจริญและการเคลื่อนที่ของเซลล์ได้มากกว่าสารแคปไซซินอย่างเดียว

รูปที่ 4. สารแคปไซซินยับยั้งการเกิดฟอสโฟริเลชั่นของ mTOR และสาร rapamycin เสริมฤทธิ์ของสารแคปไซซินในการยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์

โดยสรุป สารแคปไซซินมีฤทธิ์ต้านการลุกลามและการแพร่ของเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูก โดยเซลล์ NPC-TW06 จะตอบสนองต่อสารแคปไซซินได้ดีกว่าเซลล์ชนิดอื่น โดยผ่านวิถีการส่งสัญญาณของโปรตีน mTOR อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ศึกษาในระดับเซลล์มะเร็งเท่านั้น ยังต้องทำการศึกษาในระดับสัตว์ทดลองและทางคลินิก เพื่อประเมินความปลอดภัย ประสิทธิภาพและปริมาณที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูก

 

เอกสารอ้างอิง

Singhirunnusorn, P., Moolmuang, B. & Ruchirawat, M. Capsaicin suppresses the migration and invasion of human nasopharyngeal carcinoma cells through the modulation of mTOR signaling pathway. Food Sci Biotechnol (2023). https://doi.org/10.1007/s10068-023-01297-y

 

อ่านบทความ

https://www.cancerresearchuk.org/

 

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด