เรื่องของลำไย ที่หลาย ๆ คนยังไม่รู้

02 มิ.ย. 2553
1

ลำไยเป็นไม้ผลกึ่งเมืองร้อน ระยะเวลาออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลได้ประมาณ 6 เดือน ฤดูที่เราได้รับประทานลำไยกันอร่อย คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ชาวต่างชาติก็ได้หวานลิ้นหวานปากกับลำไยของเราเหมือนกัน เพราะลำไยเป็นผลไม้ส่งออกยอดนิยมอย่างหนึ่งของเมืองไทย

เรามาดูกันว่า ลำไยผลไม้เศรษฐกิจสำคัญนี้ยังมีดีอะไรอีก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้เริ่มศึกษาวิจัยลำไยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยสมาคมผู้ปลูกลำไยแห่งประเทศไทย เป็นผู้ขอให้มีการศึกษาเพื่อหามูลค่าเพิ่มของลำไย ผลก็คือ เราสามารถสกัดสารสำคัญที่มีคุณค่าทางยาได้จากส่วนต่างๆ ของผลลำไย คือสารสำคัญประเภทโพลีฟีนอล 3 ชนิด ได้แก่ Gallic acid, Ellagic acid และ Corilagen จากเมล็ด เนื้อ และเปลือกของผลลำไย ลำไยพันธุ์ต่างๆ จะมีปริมาณสารสำคัญนี้แตกต่างกัน

เนื่องจากเมล็ดลำไยมีสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดมากที่สุด สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จึงได้ศึกษาหาวิธีสกัดสารสำคัญที่มีคุณค่าทางยาให้ได้ปริมาณมากที่สุด คุณค่าทางยาที่ว่านี้มีอะไรบ้าง

  • สามารถต้านอนุมูลอิสระได้เท่ากับสารสกัดจากชาเขียว
  • สามารถฆ่าเชื้อราในช่องปากได้ดี และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ดีด้วย
  • สามารถลดความดันเลือดได้
  • สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลองได้
  • สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ในหลอดทดลอง

 

ด้วยเหตุนี้ สารสกัดเมล็ดลำไยจึงมีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเพื่อทำผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น เครื่องสำอาง ยาลดความดันเลือด และยายับยั้งเชื้อราหรือแบคทีเรีย เป็นต้น ขณะนี้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กำลังทำการวิจัยร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเตรียมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ง่าย และสะดวก เช่น น้ำยาแกรนูลหรือเม็ดฟู่สำหรับบ้วนปาก หรือแช่ฟันปลอม และยาทาแผลในปาก เป็นต้น

ในปี 2552 สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อและราในช่องปากได้สำเร็จ ขณะนี้อยู่ในระหว่างทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิก โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หากประสบความสำเร็จเราอาจไม่จำเป็นต้องซื้อยาฆ่าเชื้อราคาแพงทั้งหมดจากต่างประเทศอีกต่อไป ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่ใส่ฟันปลอมและดูแลรักษาไม่ดี จะได้ประโยชน์เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามยังจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปอีก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มีสี กลิ่น และรสชวนใช้
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่องเมล็ดลำไยคือ เป็นการนำวัสดุที่เหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่า ลำไยก็จะมีมูลค่าเพิ่มสำหรับชาวสวนลำไยของเราด้วย

ผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งได้รับอนุสิทธิบัตรแล้ว คือเรื่อง “กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดโพลิฟีนอล และวิเคราะห์จากผลลำไย (Euphoria longana Lam., Sapindaceae) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์” ในปี พ.ศ. 2548 เรื่อง “กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดจากเมล็ดลำไย องค์ประกอบที่มีสารสกัดจากเมล็ดจากเมล็ดลำไยที่เตรียมโดยกรรมวิธีนั้น และการใช้องค์ประกอบดังกล่าว” ในปี พ.ศ. 2552 และเรื่อง “การใช้สารสกัดปัญจขันธ์ (Gynostemma pentaphyllum Makino), เมล็ดลำไย (Euphoria longana Lam.) และฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) ในปี พ.ศ. 2552

เป็นที่น่ายินดีว่า บทความเรื่องสารสกัดจากเมล็ดลำไย ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Food and Chemical Toxicology ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 นั้น ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มผลงานเด่น 25 เรื่องที่ผู้อ่านให้ความสนใจมากที่สุด (Top 25 Hottest Articles) ในฐานข้อมูลและเว็บไซต์นานาชาติ ScienceDirect ในหมวด Agricultural and Biological Sciences และ Pharmacology, Toxicology and Pharmaceutical Science ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งเว็บไซต์นี้มีผู้เข้าเยี่ยมชมประจำถึงเกือบ 11 ล้านคนทั่วโลก และบทความนี้ ยังได้รับการจัดเป็นอันดับ 1 ของ Top 25 Hottest Articles ของวารสาร Food and Chemical Toxicology ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2550 และช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2550 ด้วย โดยยังติดอันดับอยู่ใน Top 25 Hottest Articles ของวารสารนี้เป็นเวลานาน 21 เดือน ในช่วงระหว่างมกราคม 2550 – กันยายน 2551

ที่มา :

  1. โครงการ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารสกัดจากเมล็ดลำไยเพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อในช่องปาก (Research and development of pharmaceutical products for oral infections from extract of longan extract) ห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
  2. Rangkadilok, N.; Sitthimonchai, S.; Worasuttayangkurn, L.; Mahidol, C.; Ruchirawat, M.; Satayavivad, J. Evaluation of free radical scavenging and antityrosinase activities of standardized longan fruit extract. Food and Chemical Toxicology, February 2007, 45(2): 328-336.
  3. ฐานข้อมูล ScienceDirect คือ ระบบสืบค้นบทความวารสาร สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ จำนวนกว่า 1,800 ชื่อ ของสำนักพิมพ์ Elsevier Science, Academic Press และสำนักพิมพ์อื่นๆ รวมทั้งวารสาร Reviews (Trends & Current Opinion) จำนวนกว่า 6.2 ล้านระเบียน สามารถเข้าใช้บทความฉบับเต็ม และ เรียกใช้ full-text ย้อนหลังได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 – ปัจจุบัน

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด